หนังสือพิมพ์เกียรติภูมิ จังหวัดนครนายก

http://kreattibhum.siam2web.com/

บทบรรณาธิการ


โอกาสที่มาถึง


     นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก มีความคิดในการจัดประกวด “สุดยอดไก่ย่างนครนายก สูตรดั้งเดิม” มีวัตถุประสงต์เพื่อค้นหาสูตรไก่ย่างที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดนครนายก แล้วนำมาพัฒนาต่อยอดให้กลายเป็นสินค้าสำคัญของจังหวัด เพื่อนำไปสู่การจำหน่ายที่มีมาตรฐานสามารถผลักดันเป็นสินค้าโอท็อปได้ในอนาคต โดยจะให้มีการจัดการประกวดและแข่งขันทุกปีต่อเนื่อง รวมถึงทางจังหวัดจะช่วยผู้ที่ชนะเลิศหรือได้รางวัล ด้วยการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์และส่งเสริมในด้านอื่น ๆ อีกหลังจากนี้

       ปัจจุบันต้องยอมรับว่า ไก่ย่างสูตรนครนายก ยังคงมีอยู่ เพียงแต่ถูกบดบังด้วยภาพของ ไก่หมุนริมทาง ไก่ย่างวิเชียรบุรี ที่มีการติดป้ายขายอยู่ริมทาง ในความเป็นจริงแล้ว ไก่ย่างสูตรนครนายก เป็นอาหารที่ขึ้นชื่อ หากใครได้ลิ้มชิมรสชาติ เนื่องจากใช้กะทิเป็นส่วนผสมในการหมัก และทาเนื้อไก่เวลาย่างบนเตา ทำให้รสชาติหอมหวาน สามารถรับประทานเปล่า ๆ ได้โดยไม่ต้องจิ้มน้ำจิ้ม เพียงแต่การที่มีกะทิเป็นส่วนผสม ทำให้ยากต่อการเก็บรักษา ไม่สามารถเก็บไว้ได้นาน ๆ เช่นไก่ย่างแบบทาเกลือแล้วย่างจนเนื้อแห้งแบบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

     นี่ต้องถือว่าเป็นวิสัยทัศน์ที่ยอดเยี่ยมของคนเป็นผู้นำระดับผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะหาก “ไก่ย่างสูตรนครนายก” ประสบความสำเร็จทางด้านการตลาด มีผู้นิยมซื้อกันอย่างแพร่หลาย นั่นหมายถึงโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญของจังหวัดนครนายก จะบังเกิดขึ้น สาเหตุเป็นเพราะจังหวัดนครนายก เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีฟาร์มเลี้ยงไก่หลายแห่ง สามารถรองรับความต้องการผู้บริโภคได้ ด้วยวัตถุดิบที่หาได้ทั้งปี  อีกทั้งไก่ย่างยังเป็นอาหารที่สามารถขายได้ตั้งแต่ระดับชาวบ้านริมถนน ไปจนถึงเป็นอาหารจานหรู อยู่ในร้านอาหารหรือภัตตาคารของโรงแรม  ซึ่งจะทำให้ช่องทางการทำมาหากินของชาวบ้านมีเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

     แต่สิ่งที่สำคัญเมื่อเรามองเห็นโอกาสทางธุรกิจ และโอกาสที่จะสร้างชื่อเสียงของจังหวัดให้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายอีกทางหนึ่ง  จังหวัดนครนายกจะต้องเร่งดำเนินการอย่างจริงจัง ด้วยการกำหนดแผนงานที่มีความต่อเนื่อง โดยหลังจากการประกวดเมื่อได้ผู้ชนะเลิศแล้ว จะมีแนวทางในการส่งเสริมสนับสนุนเพื่อให้ไก่ย่างสูตรนครนายก มีความแพร่หลายเพื่อให้เป็นที่นิยมของผู้บริโภคและนักท่องเที่ยวได้อย่างไร จะต้องดึงเอาหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจอาหาร เข้ามาร่วมกันหามาตรการในการส่งเสริมอย่างไร จึงจะทำให้สินค้าใหม่นี้ติดตลาด ในขณะที่ก็ต้องมีมาตรฐานทั้งในเรื่องความสะอาด และการพัฒนารูปแบบไม่ว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์หรือการจัดวางสินค้า หรือตกแต่งร้าน แม้กระทั่งเรื่องการออกใบรับรองว่าเป็นไก่ย่างสูตรนครนายก ของแท้

     คนนครนายก ชอบพูดกันว่าจังหวัดนครนายกไม่มีอะไรที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่น ดังนั้นนี้คือโอกาสในการสร้างเอกลักษณ์ทางด้านอาหารที่สำคัญ หากใครมองร้านขายไก่ย่างริมทางแล้วเห็นป้ายมีแต่ไก่ย่างที่เป็นของต่างถิ่นต่างจังหวัด นี่คือโอกาสที่คนนครนายกจะยืดอกได้อย่างภาคภูมิใจว่า จังหวัดของเราก็มีไก่ย่างที่เป็นเอกลักษณ์และมีความอร่อยไม่แพ้ไก่ย่างต่างถิ่น ที่สำคัญจะเป็นสินค้าที่ทำเงินและสร้างงานให้คนนครนายกอีกหลายคนอย่างสำคัญ


คอลัมน์ "บ้านเมืองเรื่องของเรา"

 

 

“ทำไม ! เด็กและเยาวชนจึงติดยาเสพติด ?”

                                                                                                                                                 

          การแก้ปัญหายาเสพติดในกลุ่มเด็ก เยาวชนและคนหนุ่มสาวในปัจจุบันเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเหมือน “วัวหายแล้วล้อมคอก” ซึ่งนอกจากจะสิ้นเปลืองเงินทองแล้วยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้สำเร็จอีกด้วย หากทุกฝ่ายในสังคมที่มีส่วนรับผิดชอบยังขาดจิตสำนึกที่เหมือนกัน โดยไม่ให้ความสำคัญในเรื่องที่ว่า “เด็กในวันนี้ก็คือผู้ใหญ่ในวันหน้า” และหากเด็กในวันนี้ไม่แข็งแรงแล้ว ชาติบ้านเมืองในวันหน้าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร?

           เหตุแห่งปัญหามีหลายตัวแปร มองที่ “ตัวเด็ก” อาจจะมี “ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์” จึงทำตามเพื่อน “เกิดความว้าเหว่” เพราะขาดความรักและความอบอุ่น “เด็กขาดที่ปรึกษาที่ดี” จึงหลงผิด หากจะมองไปที่ “พ่อแม่ผู้ปกครองตลอดจนครอบครัวของเด็ก” ต่างก็จะอ้างเหตุผลว่าไม่มีเวลาเพราะต้องออกไปหาเงินทำมาหา กินชนิดตัวเป็นเกลียวในสังคมที่ “แข่งขัน แย่งชิง เอาชนะ” เด็กจึงเกิดความว้าเหว่ ขาดความรักและความอบอุ่น มองไปที่ “คุณครู” ซึ่งสามารถให้ความรู้ถึงพิษภัยของยาเสพติด ให้ความอบอุ่นแทนพ่อแม่ ให้คำปรึกษา ตลอดจนติดตามเด็กไปถึงครัวเรือนได้อย่างดียิ่งก็มีปัญหาที่ระบบการศึกษาของไทยไม่เอื้ออำนวยให้ครูสามารถทำตัวให้สมบทบาทที่แท้จริงได้สมตามความคาดหวังของสังคม และหากมองไปที่บุคคลอื่น ๆ ก็น่าสิ้นหวังเพราะแต่ละฝ่ายก็นึกว่า “ธุระไม่ใช่” หรือไม่ก็เป็นพวก “ตาบอดคลำช้าง” แก้ปัญหาเป็นจุด ๆ ไม่แก้ปัญหาแบบองค์รวมในทุกภาคส่วนจึงเป็นการทำแบบขอไปที

          “คนชั่ว” ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติดมุ่งเป้าไปที่กลุ่มเด็ก 2 ประเภท คือ เด็กที่พ่อแม่ร่ำรวย กับเด็กที่พ่อแม่มีตำแหน่งใหญ่ ๆ ในวงราชการ เช่น ลูกตำรวจ ลูกข้าราชการที่มีอำนาจในบ้านเมือง เพื่อเป็นแกนในการแพร่ขยายยาเสพติดตลอดจนใช้อำนาจบารมีของพ่อแม่เด็กมาปกป้องกลุ่ม “คนชั่ว” เงินของกลุ่มนักค้ายาเสพติดจึงสามารถนำไป “ซื้อใจ” ในกลุ่มข้าราชการ นักการเมือง และนักธุรกิจชั่ว  ได้เป็นอย่างดี ส่วนรัฐบาลแต่ละยุคก็แก้ปัญหาแบบผักชีโรยหน้าตามกระแสสังคมไปวัน ๆ บางครั้งก็รณรงค์ติดป้ายว่า “รักในหลวง ห่วงลูกหลาน ร่วมกันต้านยาเสพติด” ทั้งประเทศก็ถือว่าทำสำเร็จแล้วโดยไม่มีการปลุกจิตสำนึกของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้ร่วมกันหาทาง “ป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนปลอดภัยจากยาเสพติด” อย่างจริงจังและต่อเนื่องแต่อย่างใด

          มาตรการในการป้องกันย่อมจะสิ้นเปลืองน้อยกว่ามาตรการในการแก้ไขปัญหาอย่างแน่นอน การป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนติดยาเสพติดที่ดีที่สุดก็คือ การให้เด็กและเยาวชนรู้จักการ ป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากยาเสพติด  นั่นก็คือทุกภาคฝ่ายต้องร่วมกันรณรงค์ให้เด็กและเยาวชนอย่างน้อยต้องมีคุณสมบัติในตนเองอย่างน้อย 6 ประการ คือ (1) มีความรู้เท่าทันเกี่ยวกับโทษและพิษภัยของยาเสพติด   (2) นับถือตนเองรู้คุณค่าของการมีชีวิต (3) รู้บทบาทและหน้าที่ทั้งในปัจจุบันและอนาคตต่อชาติบ้านเมือง (4) มีสุขภาพจิตที่ดี รู้จักแก้ไขปัญหาชีวิตสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข (5) รู้จักการเลือกคบเพื่อนที่ดีและเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เพื่อน  (6) ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม 

          มาตรการป้องกันข้างต้นดังกล่าวหากผู้เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ญาติผู้ใหญ่ในครอบครัว ครูอาจารย์ ผู้นำในชุมชน และข้าราชการ นักการเมือง นักธุรกิจ ต่างมีจิตสำนึกที่จะร่วมกันสร้างเด็กและเยาวชนในปัจจุบันเพื่ออนาคตที่ดีของสังคมและชาติเมืองแล้วเริ่มเสียแต่บัดนี้ก็ยังนับว่าไม่สายเกินไป.


 

                                                                                                                             โดย ธ.ธรรม 

              

              




คอลัมน์ "ขี่ม้าเลียบเมือง"

โดย...นายปกป้อง

ประวัติศาสตร์ คอกช้าง  บ้านนานครนายก

ยุคสมัย                    ประวัติศาสตร์ (อยุธยา)

ที่ตั้ง                         บ้านป่าขะ  ตำบลป่าขะ  อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก

รุ้ง                            ๑๔  องศา  ๑๖  ลิปดา  ๓๐  ฟิลิปดา เหนือ

แวง                          ๑๐๑  องศา  ๐๔  ลิปดา  ๑๗  ฟิลิปดา  ตะวันออก

พิกัดกริด                  47  PQR 235790

แผนที่ทหาร            พิมพ์ครั้งที่ 1 RTSD   ลำดับชุด L 7017  ระวาง 5237 IV

มาตราส่วน              ๑ ; ๕๐,๐๐๐ 

ประวัติการศึกษา      สำรวจ

วัน เดือนปี              กรกฎาคม  ๒๕๓๕

รับผิดชอบ               โครงการสนองพระราชดำริ  (นครนายก)

เอกสารอ้างอิง         รายงานการสำรวจ

เส้นทางสู่แหล่ง     ไปตามทางหลวง ๓๓ เมื่อถึงอำเภอบ้านนา แยกเข้าทางวัดสมอบุญคงและวัดทองย้อยไปอีกราว  ๑.๕ กิโลเมตร  จนถึงวัดไม้รวกและข้ามสะพานคอนกรีตเดินต่อไปจนถึงหมุดคอนกรีตของ ทบ. จะเป็นบริเวณพื้นที่เพนียดเดิม

ประวัติแหล่งโบราณคดี         ในระหว่างศักราช ๑๐๖๙  ปีขาล นพศก (พ.ศ.๒๒๕๐)  เดือน ๓  ข้างขึ้น สมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ พระกำแพงกรมช้างกราบทูลพระกรุณาว่า ช้างโขลงบ้านนานั้นตกลูกเนียมเข้าเพนียด  ครั้นดำรัสทราบจึงเสด็จลงเรือพระที่นั่งล่องออกไปเพนียดเสด็จขึ้นสู่ปราสาทดำรัสให้คล้องช้างเนียมได้จึงสมโภช ๓ คืน แล้วขนานพระนามพระราชทานชื่อ “พระบรมไตรจักร”  แม่ช้างเนียมนั้น ให้เอาทองคำเปลวปิดหูปล่อยไปช้างโขลงบ้านนาให้สิ้น  และรับพระบรมไตรจักรเข้ามาไว้โรงมีซุ้มยอด อยู่เคียงสรรเพชญ์มหาปราสาท (พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ)

                แต่พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวว่า  จุลศักราช ๑๐๖๔ ปีมะเมีย  จัตวาศก (พ.ศ.๒๒๔๕) ชาวโขลงบ้านแก่งนำโขลงเข้ามาแต่ท้องป่าต้นและกันเอาช้างพลายงาสั้นติดโขลงเข้ามาได้ตัวหนึ่ง สูงประมาณ ๖ ศอก ๕ นิ้ว สรรพด้วยคชลักษณ์งามบริบูรณ์และชักโขลงนั้นเข้ามา ณ เพนียดจึงพระราชวังเมืองนำเอาข่าวช้างสำคัญขึ้นกราบทูลพระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไป ณ เพนียดทอดพระเนตรให้ชักช้างโขลงเข้าเพนียดและทรงพระกรุณาให้กันช้างสำคัญนั้นไว้ในวงพาด ให้ปรนปรือ ฝึกสอนให้คล่อง ชำนิชำนาญแล้วจึงนำเข้าไว้ ๆ โรงที่เพนียด  ทรงพระกรุณาให้มีการมหรสพสมโภชสามวันแล้วให้นำ ลงสู่เรือขนานมีเรือคู่ชักแห่เป็นกระบวนเข้ามายังพระนคร ทรงพระราชทานนามพระบรมไตรจักร แล้วพระราชทานรางวับแก่นายโขลงโดยสมควร  (พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ฯ หน้า ๑๗๕-๑๗๖)  นอกจากนี้ยังเสด็จด้วยช้างพระที่นั่งแวดล้อมไปด้วยช้างท้าวพระยาเป็นอันมาก เที่ยวประพาสไปในอรัญประเทศและให้ช้างดั้งช้างกันและช้างเชือกบาศไล่ล้อมหมู่ช้างเถื่อนในป่าและซัดเชือกบาศคล้องช้างเถื่อนได้มาก  และเสด็จไปตั้งล้อมช้างเถื่อนในป่า  แขวงเมืองท่าโรงและป่าเพชรบุรี  บางทีเสด็จเที่ยวประพาสไป ในท้องทุ่งทรงพระแสงปืนนกสับยิงต้องนานาสัตว์

                ในระหว่างปีเถาะ ศักราช ๑๐๘๕  (พ.ศ.๒๒๖๖) สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ (พระเจ้าท้ายสระและพระอนุชา)  เสด็จพระราชดำเนินไปประพาสโพนช้างป่า หัวเมืองนครนายกฝ่ายตะวันออก  ในเพลาราตรีนั้นเดือนหงาย  เสด็จไปไล่ช้างเถื่อนพระจันทร์เข้าเมฆ ช้างพระอนุชาธิราชขับแล่นตามไปทันช้างพระที่นั่งทรงไม่ทันจะรั้งรอ  ช้างพระที่นั่งกรมพระราชวังโถมแทงเอาช้างพระที่นั่ง ควาญท้ายช้างนั้นกระเด็นตกจากช้างนั้นลง ช้างทรงเจ็บฝ่ายมากก็ซวนเซแล่นเข้าป่า  สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินจึงขับช้างนั้นกลับมายังพลับพลาชัย (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ฯ หน้า ๒๐๔)

                ครั้งหนึ่งเสด็จพระราชดำเนินไปประพาสโพนช้างป่าตะวันออก ครั้นเพลาพลบค่ำ เดือนหงายรุบรู่  เสด็จโพนไปพบช้างพระที่นั่งไล่ไปก่อน  ช้างกรมพระราชวังบวรสถานมงคลว่าตามแทงท้ายช้างพระที่นั่งทรง จนควาญพลัดตกช้างพระที่นั่งวิ่งเข้าชัฏไม่ได้ (พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ หน้า ๒๗๓)

                อนึ่ง  ณ วันเสาร์ ขึ้น ๔ ค่ำเดือน ๒ ปีจอ อัฐศก จุลศักราช ๑๑๒๘ (พ.ศ.๒๓๐๙) ขณะเมื่อกรุงเทพมหานครยังมิได้เสียนั้น พระเจ้าอยู่หัวอันมีอภินิหารนับในเนื้อพุทธรางกูรเจ้าตรัสทราบพระญาณว่ากรุงศรีอยุธยาจะเป็นอันตราย  จึงอุตสาหะด้วยกำลังกรุณาแก่สมณพราหมณาจารย์และพระบวรพุทธศาสนา  จึงเลื่อมสูญจึงชุมนุมพรรคพลทหารไทยจีนประมาณ  ๑,๐๐๐  เศษ สรรพด้วยเครื่องศาสตาวุธต่าง ๆ และประกอบด้วยทหารผู้ใหญ่  แล้วยกไปตั้ง ณ วัดพิชัยฝ่ากองทัพพม่าได้รบกันเป็นสามารถ พม่าถอยไปจึงดำเนินพลทหารไปตามทางบ้านข้าวเม่าสำบัญฑิต  ป้านโพสาวหาญ และรุ่งขึ้นวันจันทร์ ขึ้น๖ ค่ำ เดือน ๒ “ขุนชำนาญไพรสณฑ์และนายกองช้างสามิภักดิ์เอาช้างมาถวายพลาย ๕  พัง ๑ “นำเสด็จไปบ้านบางดง    จึงยกพลทหารมาประทับตำบลหนองไม้ ทรุง  ตามทางเมืองนครนายกและบ้านนาเริ่ง (พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี  หน้า ๑๓-๑๖)

                ในประเทศไทยมีช้างป่ากระจายอยู่ทั่วไปทุกมณฑล ในมณฑลกรุงเทพ ฯ เดิมมีช้างป่าอยู่ในทุ่งหลวง (ทุ่งรังสิต)  ทางภาคตะวันออกแม่น้ำเจ้าพระยา  ตั้งแต่เขตจังหวัดนครนายกตลอดลงมาจนทุ่งบางกะปิในแขวงจังหวัดกรุงเทพ ฯ  เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้กล่าวว่า  เมื่อพระองค์บรรพชา พ.ศ.๒๔๒๖  ได้ขึ้นไปจำพรรษาอยู่ที่วัดนิเวศน์ธรรมประวัติที่บางประอิน ตอนเย็นได้ขึ้นไปบนพระที่นั่งเวหาศจำรูญยังเห็นโขลงช้างป่าเข้ามาหากินบริเวณปลายนา  ต่อมามีคนถางป่าพงที่ช้างอาศัยทำนารุกเข้าไป  ช้างป่าจึงหนีห่างแม่น้ำออกไป โดยในระหว่างการขุดคลองรังสิตและคลองนา สายอื่น ๆ  ในทุ่งหลวง (ทุ่งรังสิต)  ช้างป่าก็ถอยออกไปและไปอยู่ในทุ่งหลวงตอน  แขวงจังหวัดนครนายก  โดยมากในบริเวณใกล้กรุงเทพ ฯ ลดน้อยลง ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเดินทางไปนครนายกและจอดเรือพักแรมที่อำเภอบางอ้อ  เวลาใกล้ค่ำเห็นช้างป่าที่ปลายนาฟากตะวันออกโขลงใหญ่  พอค่ำพวกชาวบ้านก่อกองไฟรามตามปลายนา  เพราะในฤดูทำนาตั้งแต่ข้าวตั้งกอ จวนจะออกรวง  ช้างป่าเข้ามากินข้างเสมอจึงต้องก่อกองไปทุกคืน  เนื่องจากช้างป่ากลัวไฟ  ในเวลากลางวัน จะไม่พบเห็นช้างป่าซึ่งไม่รู้ว่าหลบหนีไปไหน  แต่เวลาพลบค่ำจะย่องเข้ามาและถอนข้าวกินคืนละหลายไร่

                เมื่อพระองค์เสด็จเมืองปาจีนบุรีทางคลองรังสิต  ระหว่างที่เรือไฟจูงเรือถึงลำน้ำองครักษ์มักจะพบเห็นช้างป่า ๔-๕ ตัว กำลังว่ายข้ามลำน้ำผ่านหน้าเรือในระยะใกล้ ๆ  ต้องเปิดแตรไล่  พวกช้างป่าก็จะรีบว่ายน้ำขึ้นฝั่งวิ่งหนีไป  เมื่อช้ากำลังว่ายน้ำและขาหยั่งไม่ถึงดินจะทำอันตรายใครไม่ได้

                อย่างไรก็ตาม  ช้างป่าในทุ่งหลวงต่างจากช้างป่าในที่อื่น  ๆ  เพราะเป็นโขลงช้างหลวงสำหรับจับใช้ในราชการ  อาศัยอยู่ในทุ่งหลวงต่อเนื่องมาหลายร้อยปี  และมีการต้อนเข้าเพนียดเพื่อเลือกจับบ้างส่วนที่เหลือปล่อยกลับไปทุ่งหลวง   อันเป็นประเพณีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ซึ่งช้างป่าในทุ่งหลวงคล้ายกับเลี้ยงไว้สำหรับจับที่เพนียด และเมื่อมากพอจึงจะจับ  ซึ่งใช้วิธีการตำราหลวง  ต่างจากการจับช้างของหมอช้างทั่วไป  โดยการเลือกช้างที่มีลักษณะใช้ในการสงครามและฝึกซ้อมผู้ขี่ช้างและการฝึกหัดช้างต่อ  พระเจ้าแผ่นดินมักจะเสด็จบัญชาการคล้องด้วยพระองค์เอง  สมัยพระเจ้าเสือและพระเจ้าท้ายสระ เป็นต้น  จึงมีเพนียดใกล้พระนคร

                เมื่อราชธานีย้ายมาอยู่กรุงเทพ ฯ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทอดพระเนตร ไม่สะดวกจึงทรงโปรดให้เจ้านายต่างกรมและผู้บัญชาการกรมพระคชบาลไปทรงบัญชาการจับช้าง

 

ดังมีบันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวต่อไปนี้

-          กรมหลวงเทพพลภักดิ์  ทรงบัญชาการเมื่อรัชการที่ ๑ ,๒

-          กรมหลวงรักษ์รณเรศ  ทรงบัญชาการเมื่อรัชการที่ ๓

-          สมเด็จเจ้าฟ้ากรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์  ทรงบัญชาการเมื่อรัชการที่ ๔ และในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ เสด็จทอดพระเนตร  โดยเรือกลไฟและกำหนดจับ ๓ ปีครั้งหนึ่ง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชการที่ ๕ ก็โปรดเสด็จไปทอดพระเนตรและมีการจับช้างป่าให้แขกเมือง  (ชาวต่างประเทศ) ชมกันและได้รับการยกย่องว่าเป็นกีฬาที่ดีเลิศไม่มีในประเทศอื่นอย่างไรก็ตามการจับช้างป่าก็ลดลงเป็นลำดับ เพราะฝูงช้างในทุ่งหลวงกีดขวางการทำนา โดยเฉพาะเมื่อสร้างทางรถไฟผ่านทุ่งหลวงไปเป็นการยากในการต้อนโขลงช้างผ่านทางรถไฟมายังเพนียด และในพ.ศ. ๒๔๕๐  เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ เสด็จยุโรปครั้งหลังนั้น ช้างป่าในทุ่งหลวง เชือกหนึ่งคงจะตกน้ำมันขึ้นไปยืนบนทางรถไฟที่เชียงราก  รถไฟบรรทุกสินค้าจึงชนช้างตายและรถไฟก็ตกราง ด้วยเหตุจึงต้องต้อนช้างป่าในทุ่งหลวงไปอยู่ในป่าเชิงเขาใหญ่เขตจังหวัดนครนายก และการจับช้างป่าที่เพนียดก็เลิกไป ช้างป่าก็ไม่มีในมณฑลกรุงเทพ ฯ (กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ๒๗๓- ๒๗๖)

-          กลุ่มชาวบ้านนาได้กล่าวว่าเมื่อประมาณ ๗๐-๘๐ ปี ในเขตจังหวัดนครนายกโดยเฉพาะเขตอำเภอบ้านนา  มีโขลงช้างป่าจำนวนมากหากินอยู่ในบริเวณทุ่งบ้านนา   มักจะผ่านให้ชาวบ้านนา พบเห็นเสมอ ๆ   และในระหว่างที่ข้าวออกรวงก็จะเข้ามากินข้าวในตอนกลางคืน บางครั้งหมดเป็นไร่ ๆ ต้องใช้การจุดไฟไว้ตามคันนาเพื่อไล่ช้างไม่ให้เข้ามาใกล้นา  เส้นทางที่ช้างป่ามักจะผ่านในเขตบ้านนาและอำเภอปากพลี

-          วัดอัมพวัน หมู่ ๘  ต.บางอ้อ  อ.บ้านนา  จ.นครนายก  :  ซึ่งบริเวณนี้เป็นป่าอ้อสูงท่วมหลังช้าง เช่น โขลงอีด้วน  โขลงอีแก  เป็นต้น  และยังมีสัตว์ป่าอื่น ๆ  หลายชนิด

-          วัดวังบัว  หมู่ ๑๑  ต.พิกุลออก  อ.บ้านนา  จ.นครนายก  บริเวณนี้มีบึงขนาดใหญ่เรียก “ลำบัว”  ช้างป่ามักจะเดินผ่านหน้าวัด  เข้าไปหากินในท้องทุ่งระหว่างคลอง ๓๑-๓๒ ซึ่งเป็นป่าอ้อ และทุ่งใหญ่อันเป็นที่หากินของช้างป่า  เส้นทางเดินของช้างป่าจะไปถึงดงละครและทุ่งบริเวณรอบนอกยังมีพวกเนื้อสมัน  มีก่องเขามาก  มีกไม่ชอบอยู่ในป่าเพราะเขาจะติดกิ่งไม้ ในขณะที่มีควาญของชาวบ้านอยู่ในทุ่ง  โขลงช้างป่าจะไม่เข้ามาใกล้และโขลงช้างป่ามักจะชอบไปกินในป่าอ้อ ป่าพง ป่าขนาก

-          วัดบ้านพริก  บ้านชายลำ  หมู่ ๔  ต.บ้านพริก  อ.บ้านนา  จ.นครนายก  บริเวณนี้มีทุ่งขนาดใหญ่เรียก “ทุ่งหนองอ้ายได”  เป็นป่าปรือขนาดใหญ่  โขลงช้างจะผ่านวัดบ้านพริกไปทางหนองอ้ายได

-          วัดเกาะกา  หมู่ ๑ ต.ท่าเรือ  อ.ปางพลี  จ.นครนายก  พื้นที่บริเวณนี้เป็นป่าไผ่และไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ก็มีบ้าง  กลุ่มชาวบ้านที่เป็นเชื้อสายเวียงจันทร์เมืองเชียงขวาง  พวนและภูไท  ซึ่งเจ้าพระยาบดินทรเดชา กวาดครัวลงมาจากการศึกสงครามกับพวกฮ่อ  เมื่อเข้าเขตไทยก็ปล่อยครัวให้อยู่ในบริเวณนี้  พวกชาวบ้านต้องขุดคู  โดยรอบที่พักอาศัยเพื่อป้องกันช้างป่า

-          นอกจากนี้ในบริเวณเขตบ้านนายังมีเพนียดคล้องช้างหรือชาวบ้านเรียกว่า “โรงช้าง” ซึ่งยังมีกลุ่มชาวบ้านที่กล่าวยืนยันเรื่องการไล่ช้างป่าเมื่อประมาณ  ๗๐-๘๐ ปีก่อน  จากบริเวณป่าหรือป่าอ้อในเขตอำเภอองครักษ์และอำเภอบ้านนาในปัจจุบัน  โดยผ่านเส้นทางดังนี้ คือ องครักษ์ ,วัดอัมพวัน ,วัดทางหลาง , คลอง ๓๐-๓๑ ,วัดวังบัว ,วัดหนองคันจาม ,วัดบ้านพริก ,หนองกระเริ่ง ,วัดช้าง ,บ้านนา (วัดทองย้อย) ,ป่าขะ (บ้านทุ่งกระโปรง) ,เข้าเพนียด (หลังวัดไม้รวกปัจจุบัน)

Advertising Zone    Close

Online: 1 Visits: 27,800 Today: 2 PageView/Month: 88

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...